ประวัติ มจษ.

              มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ตั้งอยู่ที่ 39/1 ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 IP Phone 02-942-5800 ,02-942-6800 โทรสาร 0-2541-7113 เดิมชื่อว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม” เพราะเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนในระดับฝึกหัดครูมัธยมรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครูประโยคครูประถม (ป.ป.) และนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8มาศึกษาต่อเพื่อเลื่อนฐานะจากครู ป.ป. ให้สูงขึ้นไปสู่ครู ป.ม.
              โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2483 แต่เปิดสอนในปีการศึกษา 2484 เป็นโรงเรียนสหศึกษา คือชายหญิงเรียนรวมกันโดยมีหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย เป็นอาจารย์ใหญ่
              ในระยะเริ่มแรกโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมยังไม่มีอาคารสถานที่เรียน จึงไปอาศัยเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ใกล้ซอยกิ่งเพชร ต่อมาได้ใช้อาคารริมถนนในเขตพระราชวังจันทรเกษม ซึ่งอยู่ด้านหลังกระทรวงศึกษาธิการเป็นสถานที่เรียนจึงเรียกติดปากว่า “ป.ม. หลังกระทรวง”
หลักสูตรการฝึกหัดครูสมัยนั้นไม่มีวิชาเอก วิชาโท นักเรียนต้องเรียนทุกรายวิชา เพื่อจะได้ออกไปเป็นครูที่สามารถสอนได้ทุกวิชา
              พ.ศ. 2486 โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมต้องอพยพไปเรียนที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดฉะเชิงเทราเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่นักเรียนใกล้จะสำเร็จการศึกษาจึงต้องเร่งสอบให้เสร็จเพื่อจะได้ไม่ต้องหยุดพักเรียนกลางคัน
              พ.ศ. 2487 โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมต้องอพยพไปเรียนที่โรงเรียนสตรีฝึกหัดครูพระนครศรีอยุธยา เพื่อหลบภัยสงครามทางอากาศและอพยพกลับมาอยู่ในเขตพระราชวังจันทรเกษมอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488
              พ.ศ. 2491 หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ย้ายเข้ามาประจำกระทรวง ดร.กมล เภาพิจิตร มาดำรงตำแหน่ง อาจารย์ใหญ่เป็นคนที่สอง
              พ.ศ. 2497 ดร.กมล เภาพิจิตร ย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองโรงเรียนรัฐบาล อาจารย์โชค สุคันธวณิช มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่เป็นคนที่สาม
              พ.ศ. 2501 อาจารย์โชค สุคันธวณิช ย้ายไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อาจารย์ประยุทธ สวัสดิสิงห์ มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่เป็นคนที่สี่
              กระทรวงศึกษาธิการประกาศยกฐานะ “โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม” เป็น “วิทยาลัยครู” และให้เปลี่ยนหลักสูตรการผลิตครูประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ป.ม.)เป็นการผลิตครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.ชั้นสูง) นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการจัดสร้างสถานที่ทำการคุรุสภาในบริเวณที่ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมทำให้โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมต้องย้ายไปตั้งใหม่ที่ซอยสังขะวัฒนะ 2 (ลาดพร้าว 23) แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ในเนื้อที่ 89 ไร่ 88 ตารางวา ตั้งชื่อใหม่ว่า “วิทยาลัยครูจันทรเกษม” เพราะเคยอยู่ในเขตพระราชวังจันทรเกษม และไม่อาจเรียก “ฝึกหัดครูมัธยม” หรือ “ป.ม. หลังกระทรวง”ต่อไปได้และเป็นปีสุดท้ายของการผลิตครูประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม(ป.ม.)ซึ่งเป็นนักเรียนฝึกหัดครูป.ม.รุ่นที่ 18
              พ.ศ. 2502 วิทยาลัยเปิดสอนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง(ป.กศ.ชั้นสูง)รุ่นแรก จำนวน 300 คน
              พ.ศ. 2503 อาจารย์ประยุทธ สวัสดิสิงห์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการฝึกหัดครู อาจารย์สนอง สิงหะพันธุ์ ได้รับแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่
              พ.ศ. 2507 วิทยาลัยเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) อีกระดับหนึ่ง
              พ.ศ. 2508 อาจารย์พงศ์อินทร์ ศุขขจร มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่แทนอาจารย์สนอง สิงหะพันธุ์ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการที่วิทยาลัยครูนครราชสีมา
              พ.ศ. 2512 วิทยาลัยเปิดสอนนักศึกษาภาคนอกเวลาระดับ ป.กศ.
              พ.ศ. 2513 ตำแหน่ง“อาจารย์ใหญ่”วิทยาลัยครูจันทรเกษม เปลี่ยนเป็นตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ”
(ชั้นพิเศษ)
              พ.ศ. 2515 วิทยาลัยเปิดสอนนักศึกษาภาคนอกเวลา ระดับ ป.กศ. ชั้นสูง
              พ.ศ. 2515 อาจารย์พงษ์อินทร์ ศุขขจร เกษียณอายุราชการ คุณหญิงบุญฉวี พรหมโมปกรณ์กิจ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ
              พ.ศ. 2517 วิทยาลัยเปิดสอนนักศึกษาภาคปกติ ระดับประกาศนียบัตรอุดมศึกษา (ป.อ.) ชึ่งเทียบเท่า
             ปริญญาตรีวิชาเอกคณิตศาสตร์ และวิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไปโดยใช้หลักสูตรวิทยาลัยวิชาการศึกษา(มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปัจจุบัน)
              คุณหญิงบุญฉวี พรหมโมปกรณ์กิจ เกษียณอายุราชการ อาจารย์สนอง สิงหะพันธุ์ มาดำรงตำแหน่ง
              ผู้อำนวยการเป็นวาระที่สอง
              พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลให้ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” เปลี่ยนเป็น “อธิการ” ส่วนราชการในวิทยาลัย ประกอบด้วยสำนักงานอธิการ และคณะวิชาซึ่งมีคณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิชาประกอบด้วยภาควิชาต่างๆ ประกาศนียบัตรอุดมศึกษา (ป.อ.) เปลี่ยนเป็นครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.)
              พ.ศ. 2519 วิทยาลัยงดรับนักศึกษาระดับป.กศ.เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะส่งเสริมวิทยฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพครูให้สูงขึ้น วิทยาลัยเปิดสอนระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) วิชาเอกเกษตรกรรม หลักสูตร 2 ปี เพิ่มอีก 1 วิชาเอก
              อาจารย์สนอง สิงหะพันธุ์ เกษียณอายุราชการ ดร.วิศิษฏ์ ชุมวรฐายี มาดำรงตำแหน่งอธิการ
              พ.ศ. 2522 วิทยาลัยเปิดสอนระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิตหลักสูตร 2 ปีได้แก่ การประถมศึกษา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา พลศึกษา และเปิดรับนักศึกษาตามโครงการฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ (อคป.) ระดับปริญญาตรีหลักสูตร 2 ปี
              พ.ศ. 2523 วิทยาลัยเปิดสอนระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิตหลักสูตร 4 ปี ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา เกษตรศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป พลศึกษา
              พ.ศ. 2525 วิทยาลัยเปิดสอนระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 2 ปี วิชาเอกอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาช่างก่อสร้างและศิลปหัตถกรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา นอกจากนี้ยังได้จัดการศึกษาภาคต่อเนื่องระดับ ป.กศ. ชั้นสูง สายวิชาชีพครู เรียนระหว่างเวลา 15.30 – 20.30 น.
              พ.ศ. 2526 วิทยาลัยจัดการศึกษาภาคต่อเนื่องระดับป.กศ.ชั้นสูง สาขาเทคนิคอาชีพ ได้แก่ อังกฤษบริการ วารสารและการประชาสัมพันธ์ ศิลปกรรม ธุรกิจการท่องเที่ยว กสิกรรม การอาหาร เสื้อผ้า ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ศึกษา และยังเปิดรับนักศึกษาตามโครงการฝึกอบรมครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำการ(อคป.)ระดับป.กศ.ชั้นสูง สายวิชาชีพครู (อคป.ระดับ ป.กศ.ชั้นสูง)
              พ.ศ. 2527 วิทยาลัยเปิดสอนระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิตหลักสูตร 2 ปี ได้แก่ ศิลปศึกษา บรรณารักษศาสตร์ จิตวิทยาการแนะแนว
              พ.ศ. 2528 พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลให้วิทยาลัยครูจันทรเกษมรวมกลุ่มอยู่ใน “สหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์” ซึ่งพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527ได้กำหนดให้วิทยาลัยครูรวมเป็นกลุ่มเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานร่วมกันและสภาการฝึกหัดครูได้ออกข้อบังคับว่าด้วยกลุ่มวิทยาลัยครู พ.ศ. 2528 กลุ่มวิทยาลัยครูจึงพัฒนาไปเป็น “สหวิทยาลัย” และวิทยาลัยครูจันทรเกษม สังกัดอยู่ใน “สหวิทยาลัยรัตนโกสินทร์”
              วิทยาลัยครูจันทรเกษม เพิ่มคณะวิชาเกษตรและอุตสาหกรรม คณะวิชาวิทยาการจัดการ สำนักส่งเสริมวิชาการ
              วิทยาลัยรับนักศึกษาระดับป.กศ.ชั้นสูง สายวิชาชีพครู มาเรียนระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิตหลักสูตร 2 ปี ซึ่งเปิดสอนวิชาเอกคหกรรมศาสตร์ สาขาอาหารและโภชนาการ ศิลปประดิษฐ์
              สายวิชาการอื่น เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              ระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.) หลักสูตร 2 ปี วิชาเอกส่งเสริมและสื่อสารการเกษตร
              ระดับอนุปริญญาวิทยาศาสตร์(อ.วท.)หลักสูตร 2 ปี วิชาเอกการอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมก่อสร้าง
              ระดับอนุปริญญาศิลปศาสตร์ (อ.ศศ.) หลักสูตร 2 ปี วิชาเอกบรรณารักษศาสตร์ วารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ ธุรกิจการท่องเที่ยว
              วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 วิทยาลัยครูจันทรเกษม ก่อตั้งมาครบ 45 ปี ดร.วิศิษฏร์ ชุมวรฐายี ไปดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยครูพระนคร รศ.ดร.อินทร์ ศรีคุณ มาดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยครูจันทรเกษม
              พ.ศ. 2529 สายวิชาชีพครู เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              ครุศาสตรบัณฑิต(ค.บ.) หลักสูตร 4 ปี ได้แก่ การวัดผลทางการศึกษา ธุรกิจศึกษา
              ครุศาสตรบัณฑิต(ค.บ.)หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ บริหารการศึกษา ดนตรีศึกษา คอมพิวเตอร์ศึกษา สุขศึกษา
              สายวิชาการอื่น เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              วิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.)หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ พืชศาสตร์
              อนุปริญญาวิทยาศาสตร์(อ.วท.) หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ พืชศาสตร์ สัตวบาล วิทยาการคอมพิวเตอร์
              ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) หลักสูตร 4 ปี และ 2 ปี ได้แก่ ภาษาอังกฤษ
              อนุปริญญาศิลปศาสตร์(อ.ศศ.) หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ ภาษาอังกฤษ บริหารธุรกิจ อังกฤษธุรกิจ
              วิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาตามโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) รุ่นที่ 1 สาย
              วิชาชีพครู 4 ปี และ 2 ปี และสายวิชาการอื่น ระดับปริญญาตรี และระดับอนุปริญญา
              พ.ศ. 2530 วิทยาลัยเปิดสอนตามหลักสูตรวิทยาลัยครูพุทธศักราช 2530 แบ่งเป็น 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาการศึกษา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์
              สาขาวิชาการศึกษา เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              ครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) หลักสูตร 4 ปี ได้แก่ การประถมศึกษา บรรณารักษศาสตร์ ศิลปศาสตร์ อุตสาหกรรมศิลป์ เคมี คหกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษา
              ครุศาสตรบัณฑิต(ค.บ.) หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ ประวัติศาสตร์
              สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) หลักสูตร 4 ปี ได้แก่ สถิติประยุกต์
              วิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.) หลักสูตร 2 ปี หลังอนุปริญญา ได้แก่ สัตวบาล วิทยาการคอมพิวเตอร์ สถิติประยุกต์
              สาขาวิชาศิลปศาสตร์ เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)หลักสูตร 4 ปี ได้แก่ บรรณารักษศาสตร์
              อนุปริญญาศิลปศาสตร์(อ.ศศ.) หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ ศิลปะและการละคร
              พ.ศ. 2531 สาขาวิชาการศึกษา เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              ครุศาสตรบัณฑิต(ค.บ.)หลักสูตร4ปี ได้แก่ ดนตรีศึกษา คณิตศาสตร์ ชีววิทยา คอมพิวเตอร์ศึกษา
              สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              วิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.)หลักสูตร 4 ปี ได้แก่ เกษตรศาสตร์ คหกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์
              วิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.)หลักสูตร 2 ปี หลังอนุปริญญา ได้แก่ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เทคโนโลยีก่อสร้าง)
              สาขาวิชาศิลปศาสตร์ เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              ศิลปศาสตรบัณฑิต(ศศ.บ.)หลักสูตร 4 ปี ได้แก่ นิเทศศาสตร์
              ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) หลักสูตร 2 ปี หลังอนุปริญญา ได้แก่ นิเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์สหกรณ์
              อนุปริญญาศิลปศาสตร์ (อ.ศศ.) หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ ดนตรีสากล บรรณารักษศาสตร์ เศรษฐศาสตร์สหกรณ์
              พ.ศ. 2532 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              อนุปริญญาวิทยาศาสตร์(อ.วท.) หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ เคมีปฏิบัติ สถิติประยุกต์
              สาขาวิชาศิลปศาสตร์ เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              ศิลปศาสตรบัณฑิต(ศศ.บ.)หลักสูตร4 ปี ได้แก่ การจัดการทั่วไป
              พ.ศ. 2532 รศ.ดร.อินทร์ ศรีคุณ ไปดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการฝึกหัดครู รศ.ดร.ทองคูณ หงส์พันธุ์ มาดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยครูจันทรเกษม
              วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2533 วิทยาลัยครูจันทรเกษม ก่อตั้งมาครบ 50 ปี ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา มอบห้องสมุดศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธาให้แก่วิทยาลัยครูจันทรเกษม
              พ.ศ. 2533 สาขาวิชาการศึกษา เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              ครุศาสตรบัณฑิต(ค.บ.)หลักสูตร2ปี หลังอนุปริญญา ได้แก่ นาฏศิลป์และการละคร
              อนุปริญญาครุศาสตร์(อ.คศ.)หลักสูตร2ปี ได้แก่ การศึกษาปฐมวัย
              สาขาวิชาศิลปศาสตร์ เพิ่มวิชาเอกดังนี้
              ศิลปศาสตรบัณฑิต(ศศ.บ.)หลักสูตร4 ปี ได้แก่ วารสารศาสตร์ บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
              อนุปริญญาศิลปศาสตร์(อ.ศศ.)หลักสูตร2 ปี ได้แก่ ออกแบบประยุกต์ศิลป์
              พ.ศ. 2534 เปิดศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย
              สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เพิ่มโปรแกรมวิชาดังนี้
              วิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.)หลักสูตร 4 ปี ได้แก่ โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
              พ.ศ. 2534 วิทยาลัยครูจันทรเกษมได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถานศึกษาดีเด่นรางวัลพระราชทานระดับอุดมศึกษา
              พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานชื่อใหม่ให้กับวิทยาลัยครูเป็น “สถาบันราชภัฏ” เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ดังนั้น วิทยาลัยครูจันทรเกษมจึงได้เปลี่ยนเป็น “สถาบันราชภัฏจันทรเกษม”
              พ.ศ. 2535 เปิดโรงพยาบาลสัตว์
              พ.ศ. 2535 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เพิ่มโปรแกรมวิชาดังนี้
              อนุปริญญาวิทยาศาสตร์(อ.วท.) หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ สัตวรักษ์
              พ.ศ. 2536 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เพิ่มโปรแกรมวิชาดังนี้
              วิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.)หลักสูตร 4 ปี ได้แก่ ชีววิทยาประยุกต์ วิทยาศาสตร์การกีฬา
              สาขาวิชาศิลปศาสตร์เพิ่มโปรแกรมวิชาดังนี้
              ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) หลักสูตร 4 ปี ได้แก่ การบริหารธุรกิจ ศิลปกรรม (ออกแบบประยุกต์ศิลป์) ภาษาฝรั่งเศสธุรกิจ
              ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) หลักสูตร 2 ปี ได้แก่ การจัดการทั่วไป (คอมพิวเตอร์ธุรกิจ)
              พ.ศ. 2537 วิทยาลัยครูจันทรเกษมได้เปิดโปรแกรมวิชาเพิ่มในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาตรี 4 ปี ได้แก่ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เทคโนโลยีสถาปัตยกรรม) วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (การควบคุมมลพิษ) และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม(การจัดการทรัพยากร)
              สาขาวิชาการศึกษา ระดับปริญญาตรี 4 ปี โปรแกรมวิชาภาษาฝรั่งเศส
              วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2537 รศ.ดร ทองคูณ หงส์พันธุ์ ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมพลศึกษา ผศ.ณรงค์ ทองปาน หัวหน้าสำนักงานอธิการ รักษาการแทนอธิการ
              วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ผศ.ปรีชา เศรษฐีธร มาดำรงตำแหน่งอธิการ
              พ.ศ. 2538 พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2538 โดย นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2538 “วิทยาลัยครู” เปลี่ยนเป็น “สถาบันราชภัฏ” ในบททั่วไป มาตรา 7 ฉบับกฤษฎีกา
              “ให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครู และส่งเสริมวิทยฐานะครู” เฉพาะทางด้านการผลิตบัณฑิต สถาบันราชภัฏทุกแห่งสามารถผลิตบัณฑิตได้สูงกว่าระดับปริญญาตรี
             ตำแหน่ง“อธิการ”เปลี่ยนเป็น“อธิการบดี” ผศ.ปรีชา เศรษฐีธร จึงดำรงตำแหน่ง “อธิการรักษาการในตำแหน่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม”ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2538
             พ.ศ. 2538 สถาบันราชภัฏจันทรเกษมได้เปิดโปรแกรมวิชาเพิ่มเติม ดังนี้
             สาขาวิชาศิลปศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 4 ปี (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์
             สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 4 ปี (วท.บ.) โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์ความปลอดภัย
             สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 2 ปี (วท.บ.)โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เทคโนโลยีการผลิต)
             วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ผศ.ปรีชา เศรษฐีธร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี สถาบันราชภัฏจันทรเกษมจึงแต่งตั้ง ผศ.อมรา รัตตากร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ กรรมการสภาประจำสถาบัน เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ.สุวรรณี ศรีคุณ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ตามที่คณะกรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏจันทรเกษมเสนอ
             พ.ศ. 2541 สถาบันราชภัฏจันทรเกษมได้เปิดทำการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู รุ่นที่ 1
             พ.ศ. 2542 สถาบันราชภัฏจันทรเกษมได้เปิดทำการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา รุ่นที่ 1 และเปิดรุ่นที่ 2 ในปีการศึกษา 2543
             พ.ศ. 2543 สถาบันราชภัฏจันทรเกษมได้เปิดทำการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา และเตรียมการที่จะจัดการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการวิจัยและพัฒนาเมือง
             นอกจากนี้ ยังดำเนินการร่างหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาหลายหลักสูตรได้แก่
             1. หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจิตวิทยาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
             2. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษา
             3. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาส่งเสริมการเกษตร
             4. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเกษตรเชิงระบบ
             5. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคมีศึกษา
             6. หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทั่วไป
             สำหรับโครงการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนหรือการจัดการศึกษาภาคสมทบ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษานอกเหนือจากการเรียนการสอนปกติ สถาบันยังจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าศึกษาของผู้ที่สนใจ โดยในปีการศึกษา 2542 ได้เปิดศูนย์การศึกษาจันทรเกษม สหะพาณิชย์ ที่โรงเรียนสหะพาณิชย์ ซอย 101 (ปุณณวิถี) ถนนสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร
             ในปีการศึกษา 2543 จัดตั้งศูนย์การศึกษาจันทรเกษม เทคนิคชัยนาท
             ในปีการศึกษา 2544 จัดตั้งศูนย์การศึกษาจันทรเกษม มีนบุรี
             นอกจากนี้ภายในสถาบันได้เปิดการเรียนการสอนโปรแกรมวิชาเพิ่มเติม คือสาขาวิชาศิลปศาสตร์ ระดับปริญญาตรี 4 ปี (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาพัฒนาชุมชน
             วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2544 นายสมศักดิ์ วยะนันทน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการ กรรมการสภาประจำสถาบัน เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2545 รศ.มัณฑรา ธรรมบุศย์ คณบดีคณะครุศาสตร์ กรรมการสภาประจำสถาบัน เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ.เทื้อน ทองแก้ว ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏจันทรเกษม ตามที่คณะกรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏจันทรเกษมเสนอ
             ในปี 2546 สถาบันราชภัฏจันทรเกษม ได้เปิดการเรียนการสอนเพิ่มเติม คือ ระดับปริญญาตรี 4 ปี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.)โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาวัฒนธรรมศึกษา นอกจากนี้ยังมีระดับปริญญาตรี 2 ปี (วท.บ.) โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (คอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม)
             ในส่วนของบัณฑิตวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนเพิ่มเติม ในหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
             พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏจันทรเกษมได้เปิดการเรียนการสอนเพิ่มอีก คือระดับปริญญาตรี 4 ปี สาขาวิชาศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.) โปรแกรมวิชาศิลปกรรม (ออกแบบนิเทศศิลป์)
             นอกจากนี้ยังได้ผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปริญญาตรีหลักสูตร 5 ปี 7 สาขา คือ ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และ การศึกษาปฐมวัย
             ระดับบัณฑิตศึกษาได้เปิดการเรียนการสอนเพิ่มเติม หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทั่วไป สาขาการตลาด
             วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ทำให้ “สถาบันราชภัฏ” มีฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ”
             ตุลาคม พ.ศ. 2547 บัณฑิตวิทยาลัย (ศูนย์การศึกษาจันทรเกษม – ชัยนาท) ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน
             วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 รศ.มานพ พราหมณโชติ เป็นผู้รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2548 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ.มานพ พราหมณโชติ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547
             วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2548 มีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมใช้ประโยชน์ในราชการในพื้นที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เนื้อที่ประมาณ 326 ไร่ 85 ตารางวา เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม - ชัยนาท
             วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2548 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กระทรวงศึกษาธิการ 10 หน่วยงานได้แก่ สำนักงานอธิการบดี คณะเกษตรและชีวภาพ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน
             ในส่วนของบัณฑิตวิทยาลัยได้ขยายการศึกษาตามความต้องการของท้องถิ่น โดยเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาที่ศูนย์การศึกษาจันทรเกษม โรงเรียนสตรีอ่างทอง ซึ่งเป็นศูนย์บริการแห่งใหม่ และรับนักศึกษาหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการศึกษา สาขาหลักสูตรและการสอน สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา สำหรับบัณฑิตวิทยาลัยในมหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการการกีฬาเพิ่มอีก 1 สาขา
             นอกจากนี้ในระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยได้ทำการเปิดสอนสาขาวิชาวิทยาศาสตร์หลักสูตร 4 ปี คือ ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม วิทยาการผลิตและสุขภาพสัตว์ ส่งเสริมและธุรกิจเกษตร
             พ.ศ. 2549 มหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรใหม่จำแนกตามระดับปริญญา และสาขาวิชาดังนี้
             1. ระดับปริญญาเอก 1 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาการพัฒนา ธรรมาภิบาล
             2. ระดับปริญญาโท 3 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต(ศศ.ม)สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารทางธุรกิจ คหกรรมศาสตร์เพื่อการพัฒนา และหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต(ค.ม.) สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
             3. ระดับปริญญาตรี 16 หลักสูตรได้แก่
              - หลักสูตรการแพทย์แผนจีนบัณฑิต (พจ.บ.) 5 ปี
              - หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) สาขาวิชาการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 ปี (การประถมศึกษา)
              - หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) 7 หลักสูตรได้แก่ สาขาวิชาจิตวิทยา ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารธุรกิจ ภาษาจีน ภาษาจีนธุรกิจ ภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์เชิงท่องเที่ยว
              - หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.)
              - หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) 6 หลักสูตร ได้แก่ สาขาวิชาชีววิทยา คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีชีวภาพ การจัดการเทคโนโลยี เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีโยธา
             นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงหลักสูตรทุกระดับให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2548 ดังนี้
             1. หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) 14 หลักสูตร
             2.หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) 3 หลักสูตร
             3.หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.) 14 หลักสูตร
             4. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต(บธ.บ.) 6 หลักสูตร
             5.หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต (ค.ม.) 3 หลักสูตร
             6.หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต 1 หลักสูตร
             พ.ศ. 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ได้เปิดสอนหลักสูตรใหม่ ระดับบัณฑิตศึกษา ดังนี้
             1. ระดับปริญญาเอก 3 หลักสูตร ได้แก่
              - หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนา
              - หลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการกีฬา
              - หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาและการสื่อสาร
             2. ระดับปริญญาโท 1 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา รัฐประศาสนศาสตร์
             วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดร.สุชาติ เมืองแก้ว ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
             พ.ศ. 2551-2554 มหาวิทยาลัยเปิดสอน มีดังนี้
              - ระดับปริญญาตรี ได้แก่ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจบันฑิต หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต หลักสูตรบัญชีบัณฑิต หลักสูตรเศรษฐศาสตบัณฑิต หลักสูตรแพทย์จีนบัณฑิต
              - ระดับปริญญาโท ได้แก่ หลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
              - ระดับปริญญาเอก ได้แก่ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต หลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต
             วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554 รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัย ราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555 รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัย ราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมต่ออีก 1 วาระ
             วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ราเชนทร์  เหมือนชอบ เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
             วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ราเชนทร์  เหมือนชอบ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม จนถึงปัจจุบัน